เรื่องเล่าเกี่ยวกับคนดัตช์และจักรยาน
หากกล่าวถึงการเดินทางในประเทศเนเธอร์แลนด์แล้ว คาดว่าทุกคนต้องนึกถึงภาพผู้คนทุกเพศทุกวัยปั่นจักรยานกันอย่างขวักไขว่ไปรอบๆ เมืองอย่างแน่นอน สำหรับคนไทยเราก็เพิ่งเริ่มหันมานิยมการปั่นจักรยานกันมากขึ้นในช่วงไม่เกิน 5 ปีมานี้ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า การปั่นจักรยานของคนไทยยังจำกัดอยู่ในวงผู้ที่ปั่นเพื่อออกกำลังกายเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งแตกต่างจากการปั่นจักรยานของชาวดัตช์ซึ่งปั่นกันเป็นกิจวัตรประจำวันไปเสียแล้ว
ว่าแต่เคยสงสัยมั้ยคะ ว่าทำไมคนดัตช์ถึงปั่นจักรยานกันมากขนาดนี้
บังเอิญว่าในการเรียนวิชา Public Policy ที่ Maastricht University อาจารย์ท่านยกตัวอย่างนโยบายที่สำคัญของเนเธอร์แลนด์ให้ฟัง ซึ่งก็เป็นนโยบายเกี่ยวกับการใช้จักรยาน (สมกับเป็นกรณีศึกษาของเนเธอร์แลนด์จริงๆ) เลยขอสรุปรวบรวมเป็นข้อๆ มาให้อ่านกันเพลินๆ ไม่วิชาการมาก ตามนี้ค่ะ
- คนดัตช์เริ่มปั่นจักรยานกันจริงจังตั้งแต่ประมาณ 40 ปีที่แล้ว
- จุดเริ่มต้นของการพัฒนานโยบายการส่งเสริมการปั่นจักรยานมาจากการ “ปั่นเพื่อเด็กๆ” (เด็กๆ เกี่ยวยังไง อ่านไปเรื่อยๆ แล้วจะพบคำตอบค่ะ)
- ขอเล่าย้อนไปช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สักหน่อย หลังสงครามสงบ เนเธอร์แลนด์ได้ฟื้นฟูประเทศและประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง ทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น 200 กว่าเปอร์เซนต์ในระยะเวลาเพียงไม่กี่สิบปีเลยทีเดียว
- พอรวยแล้วก็ตามสูตรค่ะ คือต้องซื้อรถยนต์ส่วนตัว !!!! (คุ้นมั้ยคะ 55)
- ต่อมาไม่นาน เมื่อใครๆ มีรถส่วนตัว แน่นอนว่าการจราจรก็เริ่มแออัด นอกจากนี้ การตัดถนนใหม่ก็ทำได้ยาก โดยเฉพาะในเขตเมืองเก่า จึงเริ่มเกิดปัญหาต่างๆ เช่น รถติด ที่จอดรถไม่พอ กลายเป็นว่าแทนที่มีรถแล้วจะเดินทางสะดวกมากขึ้น กลับต้องใช้เวลามากกว่าเดิม บางครั้งต้องทุบตึกเพื่อมาสร้างที่จอดรถใหม่เสียอีก
- นอกจากนี้ ยังสร้างผลกระทบอีกอย่างคือ อัตราการเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ได้เพิ่มขึ้นมาก แถมเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายที่เป็นเด็กก็มีจำนวนไม่น้อยเลย
- ประชาชนจึงเริ่มออกมาเดินประท้วงเพื่อให้รัฐบาลสนใจแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง

ภาพการประท้วงของประชาชนให้รัฐบาลแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนน โดยนอนประท้วงหน้า Rijkmuseum (หน้าป้าย I amsterdam ในปัจจุบัน)
- แถมในเวลาใกล้เคียงกันนั้น เกิดวิกฤติน้ำมันในปี 1973 ประเทศในตะวันออกกลางจำกัดการส่งออกน้ำมัน จึงส่งผลมายังผู้มีรถยนต์ส่วนตัวในเนเธอร์แลนด์ด้วย รัฐบาลดัตช์จึงต้องรีบแก้ปัญหาที่รุมเร้ามาพร้อมๆ กันนี้อย่างเร่งด่วน
- การแก้ปัญหาที่ว่าคือ การปฏิรูปและส่งเสริมนโยบายการปั่นจักรยานอย่างจริงจังนั่นเอง รัฐบาลได้กำหนดวิสัยทัศน์ว่าจะต้องใช้รถยนต์ให้น้อยที่สุดเพื่อเป็นการลดการพึ่งพาน้ำมันจากต่างประเทศและแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางรถยนต์ด้วย เป็นการแก้ปัญหาที่ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัวจริงๆ
- รัฐบาลจึงเริ่มจากการสร้าง infrastructure สำหรับจักรยานอย่างจริงจัง มีเลนจักรยานโดยเฉพาะ จะได้ไม่วิ่งเบียดกับรถใหญ่ไปมาดูน่าอันตราย จึงเป็นการแก้ปัญหาที่ win-win ทั้งสองฝ่าย
- รวมทั้งสร้างที่จอด ทำแนวขอบสะพานลอยคนข้ามให้เป็นร่อง เอาไว้สำหรับเข็นจักรยานขึ้น-ลงสะพานได้สะดวก
- หรือแม้แต่สร้างวงเวียนลอยฟ้าให้จักรยานโดยเฉพาะเลยค่ะ
วงเวียนจักรยานลอยฟ้า เมือง Eindhoven หรือที่เรียกกันว่า Hovenring
ปัจจุบันเนเธอร์แลนด์จึงเป็นประเทศที่คนนิยมใช้จักรยานมากที่สุดในโลก และปลอดภัยที่สุดในโลกอีกด้วย
- ความปลอดภัยที่ว่านั้น เห็นได้จากการที่คนดัตช์ปั่นจักรยานโดยไม่ต้องใส่หมวกกันน็อค หรือสนับแข้ง เข่า ขา ศอก อะไรเลย ปั่นกันตัวปลิวเลยค่ะ แถมรถจักรยานยังมีหลากหลายรูปแบบมาก ดัดแปลงตามสภาพการใช้งานในชีวิตประจำวันอย่างแท้จริง
- สาเหตุที่ไม่มีกฎหมายบังคับให้ใส่หมวกกันน็อคก็เพราะเขามีความมั่นใจว่า การปั่นจักรยานนั้นปลอดภัยจริง ด้วยการที่รถแต่ละประเภทจะวิ่งบนเลนของตัวเองเท่านั้น แถมคนดัตช์เป็นชาติที่มีวินัยมาก เรื่องการเคารพกฎจราจรจึงไม่ใช่เรื่องที่ต้องคอยกวดขันและต้องจับปรับกันตลอดเวลา เพราะฉะนั้น จึงไม่มีความจำเป็นต้องบังคับให้ใส่หมวกอะไรเลย
- นอกจากนี้ สถิติเด็กที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน จากจำนวนกว่า 400 คนในปี 1970 ได้ลดลงเหลือเพียง 14 คน ในปี 2010 เท่านั้น
- สรุปได้ว่า นโยบายการส่งเสริมการปั่นจักรยานของเนเธอร์แลนด์ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จึงทำให้การปั่นจักรยานกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของชาวดัตช์ไปแล้วนั่นเองค่ะ
ทีนี้ เรามาดูการปั่นจักรยานของบ้านเรากันบ้าง อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าบ้านเราเริ่มหันมาสนใจการปั่นจักรยานกันมากขึ้น พร้อมทั้งมีกิจกรรมเกี่ยวกับการปั่นจักรยานกันมากมาย เราสามารถเรียนรู้อะไรได้จากนโยบายการปั่นจักรยานของเนเธอร์แลนด์ได้บ้าง
- เนื่องจากวันนี้ (11 ธันวาคม 2558) เป็นวันที่มีกิจกรรม Bike for Dad ที่เมืองไทยพอดี เราได้เห็นความสามัคคีของคนไทยที่ร่วมกันออกมาปั่นจักรยานเพื่อถวายความจงรักภักดีต่อพ่อหลวงของเรา นอกจากนี้ คนไทยในต่างประเทศก็ได้ร่วมกิจกรรมนี้กันอย่างพร้อมเพรียงด้วย
- อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นในสังคมไทยมากกว่าการปิดงานด้วยความประทับใจ การถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดีย การฉลองความสำเร็จของงาน แล้วก็แยกย้ายกันกลับบ้าน คือการที่คนไทยตระหนักถึงการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัยค่ะ
- ไม่ใช่ว่า พอปั่นจักรยานกันวันนี้ พรุ่งนี้ก็ขับรถปาดซ้ายที ปาดขวาที จอดรถในที่ห้ามจอด ข้ามถนนใต้สะพานลอย เมาแล้วขับ เฉี่ยวคนปั่นจักรยานลงข้างทาง แบบนี้ไม่น่าประทับใจนะคะ 😦
- ส่วนตัวแล้วไม่ได้คาดหวังว่าเมืองไทยจะมีวัฒนธรรมการปั่นจักรยานเหมือนเนเธอร์แลนด์ค่ะ เพราะสภาพบ้านเรายังไม่อำนวยให้การใช้จักรยานสะดวกและปลอดภัยขนาดนั้น
- แต่ขั้นแรก แค่อยากให้ทุกคนตระหนักถึงมารยาทการใช้รถใช้ถนน ทั้งคนที่ปั่นจักรยาน คนที่ใช้รถยนต์ คนเดินเท้า ให้ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน และเคารพกฎจราจรให้มากกว่านี้
- หน่วยงานภาครัฐก็ควรสร้างระบบการขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยมากขึ้น หรือสร้าง infrastructure รองรับการใช้จักรยานให้มากขึ้น เช่น การตีเส้นกำหนดเลนจักรยานให้ชัดเจน
- มีไม่น้อยที่ต้องปั่นกันบนถนนใหญ่เพราะบ้านเรายังไม่มีเลนสำหรับการปั่นจักรยานโดยเฉพาะ คนขับรถยนต์ก็อย่าหมั่นไส้หรือรู้สึกว่าคนปั่นจักรยานเกะกะถนน ส่วนคนปั่นจักรยานก็ต้องปั่นอย่างระมัดระวัง และมีสติตลอดเวลานะคะ
- เพราะยังไงถนนก็ยังเป็นของคนไทยทุกคนอยู่ดี ไม่ว่าจะขับรถประเภทไหน หรือไม่มีรถขับก็ตามค่ะ
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจากเวบไซต์ต่อไปนี้ค่ะ 🙂
https://bicycledutch.wordpress.com/2011/10/20/how-the-dutch-got-their-cycling-infrastructure/
บทความโดย SomO, 11 ธันวาคม 2558
Leave a Reply